ขอเชิญเข้าร่วมอบรม เรื่อง หลักจริยธรรมพื้นฐาน และการทบทวนพิจารณา โครงการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และด้านสังคมศาสตร์

เป็นที่ยอมรับว่าความเจริญก้าวหน้าของศาสตร์สาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เกิดจากงานวิจัยและส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการทำวิจัยในมนุษย์ การทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคนต้องถือเอาความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัครเป็นสิ่งสำคัญก่อนความสนใจทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ วัตถุประสงค์ในการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน เพื่อให้เข้าใจสาเหตุ พยาธิกำเนิดของโรค ศึกษาความชุก อุบัติการณ์ พัฒนาการป้องกัน การวินิจฉัย กระบวนการรักษา การพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น นอกจากนี้การทำวิจัยด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับคน แม้ว่าไม่มีการใช้สิ่งแทรกแซงที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออาสาสมัคร แต่การศึกษาวิจัยโดยใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ หรือการสำรวจ ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยง หรือผลกระทบต่ออาสาสมัครทางด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตใจ อาจก่อให้เกิดตราบาปต่ออาสาสมัคร ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับอาสาสมัครวิจัยเป็นภาระที่ผู้วิจัยต้องรับผิดชอบเสมอ ผู้ทำการวิจัยจะต้องปกป้องชีวิต สุขภาพ ความเป็นส่วนตัว และความมีศักดิ์ศรีของอาสาสมัคร

ในด้านการพัฒนายาใหม่ที่ผ่านการศึกษาทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาในสัตว์ทดลองจนมีข้อมูลแสดงประสิทธิภาพ (efficacy) และความปลอดภัย (safety) ในระดับก่อนคลินิกแล้วนั้น จำเป็นจะต้องนำมาศึกษาต่อในมนุษย์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพื่อพิสูจน์และยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยในมนุษย์ก่อนที่จะได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นยาใหม่ ระยะเวลาที่ใช้วิจัยและพัฒนายาใหม่จะประมาณ 3-15 ปี ทำให้ยาใหม่มีสิทธิบัตรคุ้มครองเมื่อออกสู่ตลาดเหลือระยะเวลาสั้น บริษัทที่ทำวิจัยและพัฒนายาซึ่งอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วทั้งสหรัฐฯและยุโรป จึงมีแนวโน้มที่จะทำการศึกษาทดลองทางคลินิก (clinical trial) นอกประเทศของผู้พัฒนายา เพราะมีอาสาสมัครและผู้ป่วยจำนวนมาก การศึกษาจะเสร็จเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทำการศึกษาในประเทศของผู้พัฒนายาเอง  ปัจจุบันจึงมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตเพราะประเทศไทยมีปัจจัยและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาวิจัยทางคลินิก หากมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาวิจัยทางคลินิกให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลว่าด้วย Good Clinical Practice (GCP) ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการคุ้มครองสิทธิ ศักดิ์ศรี ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัครและผู้ป่วยที่เข้าร่วมการวิจัยทางคลินิก จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศในการศึกษาวิจัยทางคลินิก ปัจจุบันแม้ว่ายังไม่มีกฎหมายใช้บังคับด้านการทำวิจัยในมนุษย์ แต่มีกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม กล่าวถึงผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ทำการศึกษาวิจัยและการทดลองในมนุษย์ จะต้องได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้วเท่านั้น และวารสารวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งวารสารทางการแพทย์ มีข้อกำหนดในการรับผลงานวิจัยตีพิมพ์ ผลงานนั้นจะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยก่อนดำเนินการวิจัย

จากเหตุผลข้างต้น สถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยในมนุษย์ หรือที่เกี่ยวข้องกับคน ที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานด้านต่างๆ รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอน สถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงเห็นสมควรจัดการฝึกอบรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ตลอดจนนักวิจัย ได้ทราบหลักการเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยตามหลักสากล ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ให้ปฏิบัติตามหลักการทำวิจัยที่ดี โดยคำนึงถึงสิทธิ ความปลอดภัย ความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัคร สอดคล้องกับคำประกาศเฮลซิงกิ (Declaration of Helsinki)  โดยใช้หลักสูตรการอบรมที่เป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ในการจัดครั้งนี้ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าฝึกอบรม

  1. เข้าใจวิวัฒนาการของจริยธรรมการวิจัย หลักจริยธรรมการวิจัยพื้นฐาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลักการและเกณฑ์การพิจารณาด้านจริยธรรมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ การประเมินความเสี่ยงและคุณประโยชน์ที่อาสาสมัครในโครงการวิจัยจะได้รับ จริยธรรมการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ กระบวนการขอความยินยอมผู้เข้าร่วมการวิจัยประเด็นพิจารณาด้านจริยธรรมในการวิจัยแบบต่างๆ การปฏิบัติที่ดีในการทำวิจัย วิธีดำเนินงานคณะกรรมการจริยธรรมฯ ที่เป็นมาตรฐาน และจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัย
  2. สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาวิจัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลว่าด้วยเรื่องจริยธรรมการวิจัย

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
      1. คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสถาบันต่างๆ
2. คณาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัย ที่ทำวิจัยเกี่ยวข้องกับมนุษย์

จำนวนผู้เข้ารับการอบรม
       รับจำนวนจำกัด 200  คน

ระยะเวลาที่จัดฝึกอบรม

จำนวน 2 วัน ในวันที่ 15-16 สิงหาคม 2562

สถานที่จัดฝึกอบรม

ห้อง 5310 อาคารเรียนรวม 5  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  จังหวัดนครศรีธรรมราช

ติดต่อสอบถาม

สุดารัตน์ ช้างโรง เลขานุการ คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โทร 0-7567-2554 e-mail: csudarat@mail.wu.ac.th

ลิงค์สำหรับสมัครออนไลน์
https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSc2h3xD7xXmPQq1mEtmaHuk76g3vFWknNdtXz2UIRhs1M5LvQ/viewform

รายละเอียดโครงการอบรม

Facebook Comments

Share:

Related Posts

ข่าวประชาสัมพันธ์ การใช้เครื่อง LC-MSMS
ข่าวประชาสัมพันธ์

ขอเชิญเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณของสารโมเลกุลขนาดเล็กด้วยวิธี LC-MS/MS และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ด้าน Food and Environmental

Read More »
กิจกรรม สวส.

รศ.ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มอบของที่ระลึกขอบคุณแด่ ผศ.ดร.อัมพร หมาดเด็น คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์

Read More »
ห้องปฏิบัติการจุลพยาธิวิทยา
กิจกรรม สวส.

สถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ ม.วลัยลักษณ์ คว้า 3 รางวัล การนำเสนอผลงานห้องปฏิบัติการ ในงานการประชุมวิชาการด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ประจำปี 2564

Read More »